ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

เตยหอม


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Pandanus amaryllifolius  Roxb.
ชื่อสามัญ  Pandanus Palm , Fragrant Pandan , Pandom wangi.
วงศ์   Pandanaceae
ชื่ออื่น :   ปาแนะวองิง (มาเลเซีย-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวลักษณะแตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ ใบออกเป็นพุ่มบริเวณปลายยอด เมื่อโตจะมีรากค้ำจุนช่วยพยุงลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ลักษณะใบยาวเรียวคล้ายใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมัน เส้นกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง ถ้าดูด้านท้องใบจะเห็นเป็นรูปคล้ายกระดูกงูเรือ ใบมีกลิ่นหอม 
ปลูกง่าย ชอบความชื้น หน้าแล้งต้องรดน้ำบ่อย ๆ ขยายพันธุ์ง่าย แค่ขุดหน่อเล็กๆ ไปปลูกก็ขึ้นแล้ว ปลูกติดบ้านไว้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าปลูกมากๆ ตัดใบขายที่เห็นใช้มากที่สุดคือกำดอกไม้ไหว้พระ ใบมีกลิ่นหอม ตัดใบสัก 2 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตัดเป็นท่อน ๆ ใส่หม้อข้าวต้ม ข้าวต้มมีกิ่นหอมชวนรับประทานขึ้นอีกเยอะ  ต้มน้ำเชื่อมก็ตัดใบเตยหอมใส่ลงไปด้วย ต้องการสีเขียวจากใบเตยเพื่อทำลอดช่อง หรือขนมอย่างอื่นก็ตัดใบมาใส่ครกตำ เพื่อคั้นเอาทั้งน้ำหอมและสีเขียวใบเตย  ปลูกไว้เถอะดี ต้องการใช้ไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนเก็บเอาข้างบ้านเราดีที่สุด

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

เล็บครุฑ



ชื่อพื้นเมือง เล็บครุฑ
ชื่อสามัญ Polyscias
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyscias spp.
ชื่อวงศ์ ARALIACEAE
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีผิวเปลือกสีเขียวหรือสีน้ำตาล
ลำต้นเป็นข้อเล็กๆ ผิวเปลือกเรียบหรือมีจุดเล็กๆ ประอยู่ทั่วต้น
ใบ เป็นใบประกอบ มีใบย่อยติดอยู่ที่ก้านใบประมาณ 5-7 ใบ ขอบใบเป็นหยัก ใบมีสีเขียวเมื่อ
ขยี้ใบดูจะมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบและขนาด ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์
การขยายพันธุ์ โดยการตอนกิ่ง การปักชำ วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การปักชำ
การกระจายพันธุ์ เจริญได้ดีในดินร่วนซุยมีการระบายน้ำได้ดี ขึ้นได้ดีในที่ที่มีแสงแดดรำไร
ประโยชน์ คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นเล็บครุฑไว้ประจำบ้านจะช่วยคุ้มครองและป้องกันภัย
เพราะ ครุฑ หรือ คุตติ คือการคุ้มครองรักษาให้เกดความสงบสุขและปลอดภัย นอกจากนี้
ลักษณะของใบเล็บครุฑ ยังมีลักษณะคล้ายเล็บของพญาครุฑ ซึ่งโบราณเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตราย
ใบเล็บครุฑนอกจากนำไปประกอบในการจัดดอกไม้แล้วยังสามารถนำมาทำอาหารกินได้ เช่นชุบแป้งทอด หรือใช้ยอดใบที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไปรองห่อหมกแทนหรือร่วมกับผักชนิดอื่น  เล็บครุฑจะให้กลิ่นและรสชาติที่เป็นกลิ่นเฉพาะตัว  ผู้รับประทานจะจำได้นานทีเดียว  ปลูกใส่กระถางหรือลงดินก็ได้  เล็บครุฑมีใบหลายลักษณะ แล้วแต่คนชอบที่จะเลือกหามาปลูก ปักชำออกรากง่ายมาก  วิธีที่ผมชอบทำคือเอากระถางขนาด 6 นิ้ว ใส่ดินปลูกให้เต็มกระถาง กดดินให้แน่น ๆ  แล้วไปเลือกกิ่งที่มองดูว่าปักลงกระถางแล้วสวยเลย ใช้มีดคม ๆ ตัดมาแล้วเอาใบส่วนโคนกิ่งออก แล้วปักลงกระถาง รดน้ำทุกวัน วางกระถางอย่าให้ถูกแดด ไม่เกิน5 วัน เล็บครุฑจะฟื้นตั้งตัวได้อย่างสวยงามในกระถาง  สามารถเคลื่อนย้ายไปวางตรงที่เหมาะสมได้เลย


สวยไปเลย  แค่นี้ รดน้ำเช้าเย็นอย่าให้โดนแดดใบไหม้เสียสวย

อินทนิลน้ำ



อินทนิลน้ำ เป็นไม้ยืนต้น เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นทั่วไปตามที่ราบลุ่มและบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลำห้วย ในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดงดิบทั่วทุกภาค จะพบมากในป่าดงดิบภาคใต้ มีดอกสีม่วง สวยงาม มีชื่อในแต่ละท้องถิ่นต่างๆ กัน เช่น ตะแบกอินเดีย ฉ่องมู ซอง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) บาเอ (ปัตตานี) บางอบะซา (ยะลา นราธิวาส มาเลเซีย) อินทนิล (ภาคกลาง ภาคใต้) ตะแบกดำ (กรุงเทพฯ)(ในภาษาอังกฤษเรียก Pride of India หรือ Queen's flower)
ต้นนี้ก็เหมือนกันชอบดอก ที่ออกเต็มทั้งต้น และม่วงสวยดี เลยเก็บเมล็ดมาเพาะปลูก ปลูกไว้ข้างรั้วต้องคอยปีนขึ้นไปตัดกิ่งที่ยื่นออกไปสู่ถนน  เดือนมีนาทุกปีจะออกดอกสวย อีกอย่างชอบต้น ผิวของต้น ก็ปลูกไว้ด้วยจุดประสงค์ว่าจะได้ดูดอก  ซึ่งจริง ๆ แล้วริมถนนก็ออกดอกให้เห็นเยอะไป  แต่ไม่เหมือนกับต้นที่เราปลูกเอง และอยู่ในบ้านเรา

จันผา




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena loureiri Gagnep.
วงศ์ : DRACAENACEAE
ชื่ออื่น : จันทน์แดง (ภาคกลาง, สุราษฎร์ธานี) จันทน์ผา (ภาคเหนือ) ลักกะจันทน์ (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่มสูง 1.5 - 2 ม. ลำต้นตรงเป็นรูปบวม ๆ เรือนยอด อาจมียอดเดียวหรือหลายยอด เปลือกนอก เกลี้ยง สีเทา เปลือกในสีขาว ใบ ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่ ๆ ที่ปลายยอด ปลายแหลม สีเขียวเข้ม ก้านเป็นกาบหุ้มซ้อนทับกันรอบลำต้น ดอก ออกเป็นช่อใหญ่ตามซอกใบ กลีบดอก 6 กลีบ ตรงกลางดอกมีจุดสีแดง เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 ซม. ดอกสีขาว ผล กลม เล็ก ผลอ่อน มีสีเขียว ผลแก่ สีแดง และม่วงคล้ำ มีเมล็ดเดียว
ระยะเวลาในการออกดอกและเป็นผล ออกดอกระหว่างเดือน กรกฏาคม-สิงหาคม และผลแก่ระหว่างเดือน สิงหาคม-กันยายน การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด หรือแยกกอ
ประโยชน์ : ทรงพุ่มสวย ดอกมีกลิ่นหอม นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ จัดสวนเป็นไม้ประธาน สวนหิน ปลูกเป็นกลุ่ม

ที่บ้านจะมีหลายต้นหลายขนาด แต่ทั้งหมดจะเป็นต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด เนื่องจากจะเก็บเมล็ดจากที่พบเห็นมาเพาะใส่กระถางไว้ ย้ายปลูกลงดินบ้าง ใส่กระถางไว้บ้าง เพื่อเป็นของแจกสำหรับคนที่รักต้นไม้ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็จะให้ไป  การปลูกจากเมล็ดจะให้ต้นและทรงพุ่มสวย ใช้ประดับตกแต่งได้ตามความชอบ 

ชมพู่

ตอนปลูกบ้านใหม่ ๆ ในพื้นที่ไม่มีต้นไม้สักต้น กอรปกับช่วงนั้นชมพู่เพชรดังมาก  ลูกละไม่น้อยกว่า 25 บาท ได้กินสักลูกจะติดใจไปนาน  มีเพื่อนพ่อเขาทำอยู่ที่บ้านลาด เอามาฝากให้กินกัน เราเลยถามหากิ่งพันธุ์  พวกก็ใจดี บอกให้พ่อตอนมาฝากกิ่งหนึ่ง ปลูกแล้วได้แต่ต้น  แต่ไม่ได้ลูก เพราะเราไม่ใช่เซียน การทำชมพู่ให้ได้ผลดีต้องนับว่าเก่งทีเดียว  ยากมาก ดังนั้นใคร ๆ ที่ซื้อชมพู่เมืองเพชรไปกินก็อย่าบ่นเลย  เราปลูกได้แต่ต้นก็เอาแล้ว  ออกดอกมาห่อก็ไม่เป็น ต้นสูงขึ้นห่อก็ไม่ได้ หลังดอกบานไม่กี่วันร่วงลงพื้นเหยียบไม่ผิด  เพราะความดก และร่วงเนื่องจากแมลงวันทองตัวดี ไม่ได้กินเลย เลยทำใจ เอาแต่ต้นไว้ แต่จะมีบางช่วงบางจังหวะ แมลงวันทองไม่ทำงาน เราจะได้กินบ้าง  ไม่ต้องให้แก่หรอก แค่โตออกสีหน่อย ๆ ก็หวานพอแล้ว ถึงว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ลงทุนสูงต้องทำนั่งร้านปีนขึ้นไปห่อ  ตอนนี้บ้านพ่อเพื่อนก็โคนเกือบหมดแล้ว ลงทุนทำนั่งร้านไม่ไหว เลยเอารูปมาให้ดูว่าต้นไม้ดัง ๆ ที่ไหน  ที่นี่หามาปลูกไว้อย่างละต้นก็พอแล้ว

ช่วงนี้ได้น้ำและฝนตกทับเลยออกดอกกับพรึบทั้งต้น  ว่าจะลองห่อดู


ลูกขนาดนี้กำลังห่อ แต่ก่อนห่อจะต้องตัดลูกที่ไม่สวยไม่สมบูรณ์ออก ให้เหลือช่อละ 1 -2 ลูกเท่านั้น

ดอกชมพู่



ผลชมพู่

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชะพลู



ชะพลู หรือ ช้าพลู  (ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper sarmentosum Roxb.) เป็นพืชในวงศ์ Piperaceae ใบรสไม่จัดเท่าพลูและมีขนาดเล็กกว่า ชะพลูมีชื่อพื้นเมืองอื่นๆอีกคือทางภาคเหนือเรียกว่า "ผักปูนา" "ผักพลูนก" "พลูลิง" "ปูลิง" "ปูลิงนก" ทางภาคกลาง เรียกว่า "ช้าพลู" ทางภาคอีสานเรียกว่า "ผักแค" "ผักปูลิง" "ผักนางเลิด" "ผักอีเลิด" และ ทางภาคใต้เรียกว่า "นมวา"
ชะพลูเป็นพรรณไม้ล้มลุกแบบเลื้อย ชอบขึ้นตามพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะข้างลำธารในป่าดิบแล้ง และมีการนำมาปลูกตามบริเวณบ้านพบได้ในทุกจังหวัดของเมืองไทย ชะพลูแบบเถามีลำต้นสูงประมาณ 60 ซม.ลำต้นเป็นสีเขียว ใบเป็นรูปหัวใจ คล้ายใบพลูใบเล็กจะมีขนาน 3-4.5 ซม. กว้าง 2-3 ซม. ใบใหญ่จะมีขนาดกว้าง 15 ซม. ยาว 17 ซม. ก้านใบยาว 1-5 ซม. ใบมีรสเผ็ด ดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอกสีขาวและค่อยๆเปลี่ยน เป็นสีเขียว ผลเป็นกลุ่ม  หน้าร้อนใบจะแห้งร่วงหลุดเหลือแต่ต้นหรือไหลใต้ดิน  พอฝนฤดูใหม่มาชะพลูจะแตกใบใหม่สวยงาม  เหมาะที่จะใช้ไปประกอบอาหาร ที่พบบ่อยที่สุดจะเป็นแกงหอยขมใส่ใบชะพลู  อีกอย่างหนึ่งคือใช้ห่อเมี่ยงคำ  หรือหั่นเป็นเส้นฝอยใส่ข้าวยำ
ปลูกง่ายตัดต้นไปปักชำ หรือเอาไหลส่วนที่มีรากไปปลูกก็ขึ้นแล้ว  ชอบความชุ่มชื้น  ต้องรดน้ำบ่อย ๆ จะให้ใบสวย ๆ
อย่างที่เห็นเพิ่งจะได้น้ำฝนเพียงสองวันแตกใบใหม่

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

สัตว์เลี้ยงชนิดที่สองต่อจากไก่แจ้



ต้นกะพ้อ


ต้นกะพ้อ เป็นพืชตระกูลปาล์ม ชอบขึ้นอยู่ในป่าพรุ ต้นนี้ขุดมาปลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้โตเห็นต้นชัดเจน เป็นปาล์มที่แตกหน่อเป็นกอ แทงช่อดอกออกลูกสุกแดงทุกปีมาหลายปีแล้ว  ในป่าธรรมชาติปัจจุบันเหลือน้อย เนื่องจากการใช้พื้นที่ทำนากุ้งกุลาดำ จนมาถึงการปลูกปาล์มน้ำมัน  กะพ้อใช้ประโยชน์จากใบ ยอดอ่อน มาห่อขนม ที่เรียกว่าต้มใบพ้อ  และยังสามารถนำใบแก่มาใช้ประโยชน์ในการสานเครื่องใช้ในบ้าน เช่นทำหมวก  ทำพัด  ในอนาคตต้นไม้ต้นนี้จะมีราคาแพง เนื่องจากหายาก
ชื่อวิทยาศาสตร์: Licuala spinosa   Thunb.
ชื่อวงศ์: PALMAE
ชื่อสามัญ:  Fan  Palm
ชื่อท้องถิ่น:  พ้อ
ถิ่นกำเนิด:  ทางภาคใต้ของไทย  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย
ลักษณะวิสัย: ปาล์ม
ลักษณะ: เป็นปาล์มพื้นเมืองที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยลำต้นมีลักษณะเป็นสูง  ประมาณ 15 - 20 ฟุต  ใบเป็นรูปพัด ก้านใบยาวเล็กมีใบย่อยแตกออกจากกัน  และแตกออกจากจุดเดียวกัน ที่ก้านใบแต่ละใบจะมีใบย่อยประมาณ 12 - 18 ใบ ตามใบย่อยจะมีรอยจีบ ปลายใบตัด ใบย่อยยาว ประมาณ 1 ฟุต และกว้าง 4-5 นิ้ว ใบสีเขียวเข้มเมื่อเจริญเติบโตไปสักระยะหนึ่งจะเกิดหน่อตามบริเวณโคนต้นมากมาย     เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง     สามารถปลูกในสนามหญ้าเพื่อให้มันแตกกอเป็นพุ่มหรือจะทำเป็นสวนหย่อมก็ได้ 
ประโยชน์:  ไม้ไม้ประดับ สวยงาม
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด แยกหน่อ


ข้าวต้มใบกะพ้อ




วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

มะเขือพวง

มะเขือพวง (Solanum torvum Sw.)
มะเขือพวงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ศาสตร์คือ Solanum torvum Sw. ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Solanaceae และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ภาคเหนือเรียกว่า มะแคว้งกุลา ภาคอีสานเรียกว่า หมากแข้ง แต่จังหวัดนครราชสีมาจะเรียกว่า มะเขือละคร ภาคใต้เรียกว่า เขือน้อย เขือพวง ลูกแว้ง และเขือเทศ แต่จังหวัดสงขลาจะเรียกว่า มะแว้งช้าง

มะเขือพวง เป็นพืชที่ควรปลูกติดบ้านไว้ เนื่องจากปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บกินได้ตลอดไป  ต้นแม่มีอายุข้ามปี เมื่อโทรมลงสามารถตัดให้แตกกิ่งใหม่ได้  ถ้ามีมะเขือพวงอยู่ในบ้านสักต้นหนึ่งแล้วปีต่อ ๆ ไป ไม่ต้องปลูกจะมีต้นอ่อนขึ้นทั่วไปบริเวณ เนื่องจากเมล็ดที่นกกินไปถ่ายไว้ทั่วไป จะงอกขึ้นมาเมื่อฝนตกน้ำดี ผล ใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่นแกงป่า แกงไก่อร่อยนัก ปุบใส่น้ำพริก  เห็นผู้เฒ่าผู้แก่นำลูกมะเขือพวงมาเผาไฟทำเป็นผักกินกับน้ำพริกก็ได้ ข้อเสียคือมีหนามคม ต้องระวังเด็ก ถูกหนามจิ้ม จะเจ็บปวดและอักเสบด้วย